โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น

โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
อย่าชะล่าใจ หากคิดว่าโรคหัวใจเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น
โรคหัวใจเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง โดยสถิติในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจเริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากผู้ป่วยอายุ 60-70 ปี ก็ขยับมาเป็นอายุ 30 ต้นๆ ได้แล้ว
เช่นเดียวกับหลายๆ เคส ที่หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำโรงพยาบาลเวชธานี พบเจอในช่วงที่ผ่านมา จนอาจสรุปได้ว่าสาเหตุของโรคหัวใจส่วนใหญ่ในคนวัยทำงาน ล้วนเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยจะใส่ใจหัวใจตัวเองเท่าไหร่นัก
ทำความเข้าใจ โรคหัวใจมีหลายแบบ
“จริงๆ แล้วขอบเขตของโรคหัวใจนั้นกว้างมาก และสามารถแบ่งเป็นหลายรูปแบบ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจโต และโรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งแต่ละโรคจะมีพยาธิสภาพการเกิดและการดำเนินโรคแตกต่างกันไป”
คุณหมอเสริมว่าส่วนใหญ่แล้ว โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจที่มีรูรั่วระหว่างผนัง มักจะแสดงอาการตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่สามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่เด็ก ส่วนโรคหัวใจประเภทอื่นๆ จะแสดงอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ยิ่งพ่อแม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจตั้งแต่หนุ่มสาว หรือตัวเองใช้ชีวิตไม่ค่อยจะดีนัก ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งเร่งอัตราการเกิดโรคหัวใจได้มากขึ้น โดยโรคหัวใจยอดฮิตที่มักจะเจอกันบ่อยๆ ก็คือโรคหัวใจวาย และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาวะหัวใจวาย
เมื่อคนวัยทำงาน กลายเป็นโรคหัวใจจากพฤติกรรมกันมากขึ้น
แม้สาเหตุหนึ่งที่โรคหัวใจถูกตรวจพบเยอะขึ้นในคนวัย 30 ต้นๆ จะเป็นเพราะเทคโนโลยีอันก้าวหน้า จนการตรวจโรคยากๆ ในอดีตสามารถพบและเยียวยาได้ง่ายขึ้น แต่อีกส่วนก็เป็นเพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนเราต้องขอมาไล่เรียงกันให้ชัดๆ ว่าพฤติกรรมแบบไหน ที่จะนำไปสู่โรคหัวใจได้โดยไม่รู้ตัว
เพราะทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ความเครียดสะสม 
“ส่วนใหญ่ คนที่เครียดแล้วหัวใจวาย มักจะเป็นคนที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือมีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว ความเครียดอาจจะไปกระตุ้นให้เส้นเลือดตีบเพิ่มขึ้น ถามว่าความเครียดอย่างเดียวทำให้หัวใจวายได้ไหม ก็เป็นได้เหมือนกัน”
แล้วถ้าถามว่าภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร ต้องอธิบายก่อนว่าเกิดจากการสะสมคราบไขมันซึ่งเข้าไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำได้ไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากร่างกายที่เสื่อมสภาพไปตามวัย และโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ระมัดระวัง (แถมยังโปรดปรานไขมัน) ของคนยุคนี้นั่นเอง
เมื่อร่างกายสะสมไขมันมากเข้าโดยไม่รู้ตัว คราบไข้มันเหล่านี้ก็อาจแตกก่อให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดทางเดินเลือด และทำให้เกิดหัวใจวายได้ ซึ่งความเครียด คือหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิดหัวใจวายง่ายขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
เพราะกินหวานมันจุบจิบ จนเป็นนิสัย
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าเรื่องอาหารการกินก็สำคัญ คุณหมอแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไขมันอิ่มตัว อย่างไขมันจากสัตว์หรือไข่แดง รวมไปถึงไขมันทรานส์ (Trans Fat) ที่แม้ประเทศเราจะมีกฎหมายควบคุมการใช้ไขมันประเภทนี้แล้ว แต่ในเนย นม มาการ์รีน และชีสบางประเภทก็ยังมีส่วนผสมของไขมันทรานส์อยู่ ทำให้หลายเมนูที่เรากินอาจไม่ได้ปราศาจากไขมันทรานส์ร้อยเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้คุณหมอยังแนะนำให้ค่อยๆ ลดเมนูน้ำหวานทั้งหลายที่เรากินกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม และเครื่องดื่มชงต่างๆ ด้วย เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ในระยะยาวก็จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจเช่นกัน
เมื่อลดได้ ก็ควรเพิ่มอาหารจำพวก Heart Healthy Diet หรืออาหารที่ดีต่อหัวใจ ไม่มีส่วนผสมของไขมันอิ่มตัว ง่ายๆ แค่ลองเปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชที่มีโอเมก้า 3 และ 6 เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน กินเนื้อปลาให้ได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ลดการบริโภคเนื้อแดง เพิ่มเมนูผักผลไม้ ถั่ว ธัญพืช ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาวได้
เพราะออกกำลังกายหักโหมเกินจำเป็น 
ช่วงที่ผ่านมาหลายคนน่าจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับนักวิ่งที่เสียชีวิตจากการวิ่งมาราธอนผ่านหูผ่านตาอยู่เรื่อยๆ ถึงจะฟังดูน่ากลัวไม่น้อย แต่คุณหมอก็บอกว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดกันได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วแต่ไม่เคยไปตรวจ คิดว่าตัวเองแข็งแรงดี จนออกกำลังกายหนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว
“แม้ว่าคุณจะเป็นนักกีฬา ออกกำลังกายเป็นประจำ คุณก็ควรไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมออยู่ดี อย่ามองว่าตัวเองแข็งแรงดีแล้วจะไม่เป็นอะไร หรือถ้าคิดจะออกกำลังกายหนักๆ อย่างการวิ่งมาราธอน ก็ควรซ้อมก่อน เพื่อสังเกตว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายเสี่ยง เช่น เจ็บหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายไหม เพื่อจะได้รักษากันได้ทันท่วงที”
การออกกำลังกายไม่ใช่ผู้ต้องสงสัย ในทางกลับกัน การออกกำลังกายอย่างถูกต้องจะช่วยทำให้หัวใจของเราแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม โดยคุณหมอแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic Excercise) ที่ช่วยให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน (แต่ถ้าไม่ถนัดออกกำลังกายแนวนี้ ก็สามารถออกกำลังกายในแบบที่ตนเองชอบได้เช่นกัน) ขอให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ในระยะยาวหัวใจจะทำงานได้ดีขึ้น แถมยังลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ด้วย
เพราะรับฝุ่นควันสะสมและมลพิษโดยไม่ได้ตั้งใจ 
ลองสังเกตตัวเองให้ดี ว่าอยู่ใกล้ชิดมลพิษหรือฝุ่นควันแบบไหนบ้างหรือเปล่า
ควันพิษประเภทแรกเลยก็คือ บุหรี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนสูบเองหรือเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับคนสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นบุหรี่ปกติหรือบุหรี่ไฟฟ้าเลยล่ะ
ส่วนฝุ่นควันประเภทที่สองก็คือ PM 2.5 ซึ่งมีงานวิจัยชัดเจนว่า ฝุ่นควันพวกนี้สามารถผ่านเข้าไปถึงระบบไหลเวียนเลือด จนสามารถเพิ่มอัตราการเกิดภาวะหัวใจวายได้มากขึ้น สิ่งที่เราพอทำได้ยังคงเป็นการใส่หน้ากากให้มิดชิด เปิดเครื่องฟอกอากาศอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหัวใจ
อยากปรับพฤติกรรมให้เวิร์ก ต้องปรับให้รอบด้าน
“เวลาปรับพฤติกรรม เราต้องทำทุกอย่างไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่ายังกินอาหารไม่ดีอยู่ แต่ไปออกกำลังกายทดแทน สิ่งเหล่านี้หักล้างกันไม่ได้ เพราะถึงมันจะไม่ส่งผลต่อหัวใจ มันก็อาจจะไปส่งผลกับระบบร่างกายส่วนอื่นๆ แทนได้เหมือนกัน” หมออาร์ทยืนยันกับเรา ว่าพฤติกรรม ‘กินก่อน เอาออกทีหลัง’ ไม่ใช่ทางที่ดี
“ยิ่งบางคนมีสภาพร่างกายที่หัวใจมีความพร้อมเป็นโรคอยู่แล้ว แต่ในสภาพชีวิตปกติ อาการเหล่านี้อาจจะยังไม่เกิด จนมีพฤติกรรมไปเป็นตัวกระตุ้น เช่น พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย ความผิดปกติของหัวใจเลยแสดงออกมา”
หากมีสัญญาณอันตราย แค่ตรวจร่างกายประจำปีอาจไม่พอ 
การตรวจร่างกายประจำปี ที่รวมไปถึงการตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดปริมาณไขมัน น้ำตาล ค่าตับ ค่าไต อาจมีส่วนช่วยในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ แต่ก็มีหลายกรณีเช่นกัน ที่โรคหัวใจไม่สามารถตรวจพบได้ทันที
คุณหมอจึงแนะนำว่าหากเกิดอาการผิดปกติขึ้น เช่น เจ็บแน่นหน้าอกบริเวณใกล้หัวใจ จุกที่ลิ้นปี อาจมีอาการร้าวไปยังกราม หลัง แขน หรือรู้สึกได้ว่าหัวใจเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หน้ามืดเป็นลมก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจหัวใจอย่างละเอียดทันที เพราะอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การป่วยเรื้อรังหรือเฉียบพลันในอนาคตได้
ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าผลการตรวจร่างกายจะสรุปมาว่าเราป่วยหรือไม่ ในวัยที่ยังพร้อม การหันมาปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งเรื่องความเครียด การออกกำลังกาย และอาหารการกินให้เหมาะสม ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ไม่ยาก
 
ใจสั่น ปวดใจ เอ๊ะ หรือกรดไหลย้อน ปวดแบบไหน โรคหัวใจถามหา
เมื่อบอกว่าโรคหัวใจกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนวัยทำงานมากขึ้น การหันมาสังเกตตัวเองให้แน่ใจว่าอาการเจ็บๆ ปวดๆ ที่ผ่านมาคืออะไรกันแน่ แท้จริงแล้วเป็นสัญญาณของโรคหัวใจหรือเปล่า จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง!
 
01 ใจเต้น..แบบตุ๊มๆ ต่อมๆ 
สัญญาณหลักของโรคหัวใจ คืออาการหัวใจเต้นผิดปกติ แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ อาการใจเต้นหวิวๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าหัวใจเต้นช้าจนเหมือนจะหยุดเต้น หรืออาจจะตรงกันข้ามไปเลย นั่นคือเกิดอาการหัวใจเต้นรัวเร็ว ซึ่งอาการนี่อาจมาคู่กับอาการเหงื่อแตก หน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลม ทั้งที่ยังไม่ทันได้ทำอะไร ใครที่สงสัยว่าหรือเราใจหวิว ใจสั่น เพราะกำลังมีความรักหรือเปล่า อย่าลืมสังเกตว่าว่ามีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และหากเป็นบ่อยเกินไป ก็คงไม่ใช่ความรักแล้วล่ะ!
02 ปวดใจ โดยไม่มีใครทำร้าย
อาการเจ็บหน้าอกที่มักเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด มักจะเจ็บบริเวณกลางหน้าอกค่อนไปทางซ้าย อึดอัดหายใจไม่สะดวก เหมือนอะไรหนักๆ มากดทับ อาจเจ็บร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ด้วย มักจะเป็นเวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ยกของ แต่สำหรับบางคนอาจมีแค่อาการปวดร้าวบริเวณกรามหรือไหล่ โดยไม่เจ็บที่หัวใจเลยก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม ทั้งที่จริงอาจเป็นอาการเกี่ยวกับหัวใจ หากรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่ายร่วมด้วย ก็ควรไปปรึกษาแพทย์นะ
 
03 มันแน่นอก! ยกก็ไม่ออก
หลายครั้งอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ถูกเข้าใจว่าเป็นกรดไหลย้อน แต่อาจมีอาการแตกต่างกันนิดหน่อย ตรงที่กรดไหลย้อนมักจะมีอาการแสบๆ ออกร้อน บางครั้งมีเรอเปรี้ยวร่วมด้วย
โดยอาการทั้ง 3 รูปแบบนี้ มักจะมาเป็นพักๆ แล้วหายไป ดังนั้นเราจึงควรสังเกตตัวเองให้ดี และอย่าลืมมองย้อนไปยังปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวของตัวเอง การพักผ่อนน้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กินอาหารไม่ดี เครียดจัด ชอบกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หากเข้าข่ายสักข้อในนี้ก็ไม่ควรอยู่เฉย ลองจดบันทึกอาการและช่วงเวลาที่เกิดให้แม่นยำ แล้วนำไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดู  ส่วนใครที่ไม่ได้อยู่ในข่ายเสี่ยง แต่มีอาการแปลกๆ เหมือนข้างต้นจนรู้สึกกังวลใจ ก็สามารถนำอาการไปปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ได้เช่นกัน

บทความอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต “หมอบิ๊ก – วินัย โบเวจา” อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ

อ่านต่อ »

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบถือว่าเป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิต

อ่านต่อ »

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ “ช่างบอย – ขวัญชัย ปิ่นแก้ว” ช่างแอร์เจ้าของกิจการมายบอยเซอร์วิส

อ่านต่อ »

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save