โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน
โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบถือว่าเป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิต จากสถิติพบว่าโรคนี้ได้คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุเท่านั้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบอันตราย เพราะสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและอาจจะเสียชีวิตทันที เนื่องจากหัวใจของเราเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด นำออกซิเจน และสารอาหารไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย การที่หัวใจจะทำงานอย่างสมบูรณ์ได้ตลอดเวลาก็ต้องมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งอวัยวะสำคัญก็คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อภายในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่างๆ จนเป็นคราบหนา ก็จะทำให้หลอดเลือดหัวใจเริ่มตีบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ มีอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ยิ่งถ้าไปเจอปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกายอย่างหนัก ก็อาจจะทำให้คราบไขมันที่เกาะอาจจะเกิดเป็นลิ่มเลือดที่มาอุดตันหลอดเลือดแดง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กลายเป็นภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตในที่สุด

 

คนส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดก็อาจจะตีบไปแล้วกว่า 50% ทำให้เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกายหนักๆ ก็มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายอาจร้าวขึ้นไปตามคอ อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อออกแรง แต่เมื่อนั่งพักจะดีขึ้น ซึ่งถ้ารู้ตัวว่ามีอาการเข้าข่ายควรจะไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียดจะได้รักษาทัน

 

เราคุยกับหมออาร์ท – ศุภสิทธิ์ ตั้งสถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำโรงพยาบาลเวชธานี เพื่อถามถึง 2 วิธีสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ว่าที่เคยได้ยินว่า ‘ต้องทำบอลลูน’ หรือ ‘ผ่าตัดบายพาส’ มันคือการรักษาแบบไหน ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับคนไข้แบบไหนกันแน่

การทำบอลลูน (Percutaneous Coronary Intervention; PCI) 
สวนขยายเส้นเลือดเดิมแบบไม่ต้องผ่า 
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบันคือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด (stent) โดยวิธีการนี้แพทย์จะสอดสายสวนหัวใจ ซึ่งเป็นท่อบอลลูนขนาดเล็กเข้าไปทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ หลังจากนั้นจะทำให้บอลลูนขยายออกเพื่อเบียดคราบไขมันหรือหินปูนซึ่งเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ขยายหลอดเลือดให้กว้างขึ้น เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้ง หลังจากนั้นแพทย์จะใส่ขดลวดค้ำยันเล็กๆ (stent) เข้าไปยึดติดกับผนังหลอดเลือดด้วยเพื่อค้ำไว้ เพื่อป้องกันการตีบซ้ำ
ข้อดีของการทำบอลลูนคือผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้นนาน อาจจะนอนโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็กลับไปใช้ชีวิตปกติได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ และผู้สูงอายุที่เสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง อีกทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำขยายหลอดเลือดด้วยวิธีนี้ มีความก้าวหน้ามาก สามารถทำเคสที่ยุ่งยากหลายๆ เคสได้ดีกว่าในอดีตมากนัก จึงมักจะเป็นทางเลือกหลักของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในปัจจุบัน
ส่วนข้อจำกัดของการทำบอลลูนคือหลอดเลือดมีโอกาสที่จะกลับมาตีบซ้ำได้ หากผู้ป่วยไม่ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารและการดูแลตัวเอง แต่ก็ยังสามารถกลับไปทำบอลลูนซ้ำได้อีก รวมถึงลักษณะรอยโรคบางชนิดอาจจะไม่เหมาะกับการทำขยายหลอดเลือดวิธีนี้
การตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) 
สร้างทางเดินหลอดเลือดใหม่ สำหรับคนตีบร้ายแรง
สำหรับคนไข้ที่หลอดเลือดตีบหลายจุด ตีบเป็นเส้นยาว หรือหลอดเลือดเล็กมากจนไม่สามารถทำบอลลูนได้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดบายพาส ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างทางเบี่ยงของหลอดเลือดเหมือนกับการทำถนนตัดใหม่ โดยจะนำหลอดเลือดในบริเวณอื่นของร่างกายมาใช้ เช่น เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งสามารถแบ่งมาใช้ทดแทนได้โดยที่บริเวณนั้นๆ ไม่เกิดผลกระทบ
การทำบายพาสนั้นมีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่จะต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าอก นอกจากนี้ผู้ป่วยยังจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานอย่างน้อย 7 วัน หลังการผ่าตัด มีโอกาสที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนสูง เช่น การติดเชื้อ เลือดออก อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจตาย แพทย์จึงมักใช้เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การทำบอลลูนได้ แต่ข้อดีคือมีโอกาสในการกลับมาเป็นโรคหลอดเลือดตีบซ้ำน้อยกว่า เพราะว่าได้สร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาแล้ว
แต่ท้ายที่สุดการจะรักษาโรคหลอดเลือดตีบด้วยวิธีไหนนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพราะยังต้องพิจารณาจากโรคประจำตัว อายุ โอกาสสำเร็จในการทำ และผลแทรกซ้อนในการรักษา ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจที่ให้การรักษาจะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับตัวผู้ป่วยและญาติก่อนทำการรักษา อธิบายข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อการตัดสินใจวางแผนการรักษาร่วมกัน
ปรับและเปลี่ยนนิสัย ให้ไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
แม้ว่าการทำบอลลูนและบายพาสจะช่วยรักษา แต่ผู้ป่วยก็ยังสามารถกลับมาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ทุกเมื่อ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมปัจจัยเสี่ยงตามวิธีต่างๆ ดังนี้
  • กินอาหารที่ดีต่อหัวใจ ได้แก่ อาหารประเภทไขมันต่ำ คอเลสเตอรอลต่ำ และกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืช
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็นของมัน ของทอด รวมทั้งอาหารที่ทำจากกรดไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ (แต่ไม่หักโหม) โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  • ลดปริมาณแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มระดับความดันโลหิตและระดับคอเรสเตอรอลให้สูงขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่หัวใจได้
  • หยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพิษของบุหรี่จะไปทำให้เส้นเลือดแดงตีบแข็ง และเพิ่มระดับความดันโลหิตขึ้น
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้างต้น นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่กลับมาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำได้แล้ว คนที่ยังไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็สามารถนำไปเป็นปรับใช้เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วยเช่นกัน
เพราะเริ่มต้นดูแลหัวใจตั้งแต่ก่อนเกิดโรคย่อมดีกว่าแน่นอน

บทความอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต “หมอบิ๊ก – วินัย โบเวจา” อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ

อ่านต่อ »

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

อ่านต่อ »

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ “ช่างบอย – ขวัญชัย ปิ่นแก้ว” ช่างแอร์เจ้าของกิจการมายบอยเซอร์วิส

อ่านต่อ »

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save