โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ
“ช่างบอย – ขวัญชัย ปิ่นแก้ว” ช่างแอร์เจ้าของกิจการมายบอยเซอร์วิส
“ปัญหาคือทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่จะไม่ล้างแอร์จนกว่าแอร์จะมีน้ำรั่ว หรือแอร์ไม่เย็นจริงๆ”
นี่คือคำบอกเล่าของ ช่างบอย – ขวัญชัย ปิ่นแก้ว ช่างล้างแอร์ที่มีประสบการณ์การล้างแอร์ร่วม 10 ปี เคยล้างแอร์มาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งแอร์โรงงาน แอร์บ้าน แอร์ออฟฟิศ ได้พบได้เจออาการหลากหลายของเครื่องปรับอากาศที่งอแง และคนใช้ที่เจ็บป่วยโดยไม่รู้ตัว
เพราะถึงจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างคุณหมอ แต่หลายครั้งที่บอยพบว่าการล้างแอร์ของเขาเชื่อมโยงกับสุขภาพของลูกค้าโดยตรงชนิดที่ไม่ต้องรอนาน แค่เขาล้างแอร์เสร็จปุ๊บ อาการคันจมูกหายใจไม่ออกของลูกค้าบางคนก็หายปั๊บ หรือลูกค้าประจำบางคนก็จะเรียกหาให้มาล้างแอร์เสมอเมื่ออาการกำเริบขึ้น เพราะแค่เปิดดูข้างใน เขาก็เห็นต้นตอเป็นฝุ่นหนา ราแน่น หรือคราบเมือกชวนหวั่นใจอยู่ในนั้น ช่างจึงยืนยันหนักแน่นว่าการดูแลเครื่องปรับอากาศที่เราต้องหายใจด้วยเกือบตลอดเวลา ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในรถยนต์ จึงเท่ากับการดูแลระบบทางเดินหายใจและปอดของเราให้แข็งแรงไปด้วยเช่นกัน
ห้องอมฝุ่นเท่าไหร่ แอร์ก็หมักหมมเท่านั้น (แถมมันยังพ่นฝุ่นออกมาด้วย!)
สำหรับคนเป็นภูมิแพ้ที่ไวต่อฝุ่น อาจรู้สึกได้ชัดเจนว่าเครื่องปรับอากาศมีผลอย่างมากกับการหายใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่มีอาการจะไม่ต้องการล้างแอร์ เพราะยิ่งไม่มีอาการแพ้ เรายิ่งสูดฝุ่นและสิ่งสกปรกเข้าไปในปอดโดยไม่รู้ตัว
“การไม่ล้างแอร์นานๆ ทำให้ฝุ่นเข้าไปติดในตัวแอร์ จนคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน แอร์ก็ต้องทำงานหนักขึ้น หลักๆ เลยคือกินไฟ” บอยเล่าไปพร้อมๆ กับถอดหน้ากากแอร์ออกอย่างกระฉับกระเฉง แล้วชี้ให้เราดูฝุ่นที่เกาะอยู่บริเวณพัดลมทั้งๆ ที่เราเพิ่งล้างแอร์ไปไม่กี่เดือน “การทำงานของแอร์เป็นระบบปิด เวลามันดูดอากาศจากภายนอกที่มีฝุ่นเข้ามา มันก็จะมาสะสมอยู่ตรงแผ่นกรองอากาศกับพัดลม แล้วฝุ่นพวกนี้ก็จะถูกเป่าออกมา ปนมากับอากาศที่เราหายใจ วนอยู่ในห้องนี่แหละครับ”
ฟังอย่างนี้ อาจสรุปได้ว่าห้องของเราเป็นแบบไหน อากาศที่เราหายใจเข้าไปก็ไม่ต่างกันมากนัก แม้แอร์ยุคใหม่หลายยี่ห้อจะมีฟังก์ชั่นกรองอากาศช่วยให้เบาใจได้บ้างยามบ้านเมืองฝุ่นฟุ้ง แต่ฝุ่นปริมาณมหาศาล แถมเล็กจิ๋วขนาดนั้น แค่แอร์อย่างเดียวก็เอาไม่อยู่ นี่ยังไม่นับรวมฝุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้าน บนเตียง ใต้พื้น ตามผนัง หรือมุมเล็กจิ๋วอย่างขอบยางตู้เย็น หรือตามเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ไม่ได้รับการเช็ดถู เมื่อสูดดมมากๆ เข้า แม้ร่างกายยังไม่ได้แสดงอาการ แต่สุดท้ายก็อาจรุนแรงจนทำให้เป็นโรคปอดอักเสบได้เลย
ช่างบอยยังบอกด้วยว่า เวลาต้องไปล้างแอร์ตามบ้านที่อยู่ติดถนนใหญ่ คอนโดมิเนียนใกล้ทางด่วน หรือบ้านที่มีทำเลติดแหล่งมลพิษ แอร์ในสถานที่เหล่านี้จะมีฝุ่นเข้าไปอุดตันในท่อได้มากกว่าปกติ เนื่องจากแอร์ไม่ได้ดูดแค่อากาศภายในห้องอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงฝุ่นละอองภายนอกที่อาจหลุดเข้ามาตามซอกหน้าต่าง และประตูด้วย
ทางที่ดีสุดคือการล้างแอร์สม่ำเสมอ หากบ้านไม่ได้ตั้งอยู่ในทำเลอมฝุ่น ควรล้างแอร์อย่างน้อย 6 เดือนครั้ง แต่ถ้าในกรณีที่บ้านอยู่ติดถนนหรือใกล้แหล่งมลพิษ เลี้ยงสัตว์ในบ้าน หรือกระทั่งแอร์ในห้องครัวที่ใช้น้ำมัน ช่างบอยขอแนะนำว่า เปลี่ยนมาล้างแอร์ให้ถี่ขึ้นทุก 3-4 เดือน จะช่วยให้อากาศที่เราหายใจสะอาดปลอดโปร่งขึ้นเยอะ
ปล่อยให้แอร์ชื้น อาจกลายเป็นบ้านของเชื้อรา
การเจอฝุ่นหนาในแอร์ยังไม่ได้ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวกว่า คือเมื่อฝุ่นเหล่านั้นดันเข้าไปเจอกับความชื้นที่สะสมอยู่ภายใน (เพราะในแอร์มีน้ำหล่อเลี้ยงการทำงานตลอดเวลา) มันจะรวมร่างกลายเป็นเชื้อราหรือแบคทีเรียสะสม ช่างบอยเล่าให้ฟังว่าแอร์กลายเป็นบ้านของเชื้อราเป็นเคสที่เขาเจออยู่บ่อยๆ เพราะมันเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แค่ไม่ทำความสะอาดห้องและแอร์ให้ดีพอ
“ทุกวันนี้เราสูดดมเชื้อราตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ถ้าภูมิต้านทานดี เชื้อราก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะปกติเชื้อราจะอยู่ในปอดได้แค่ 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าปอดเราไม่ดีหรือเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็จะไวต่อเชื้อรากว่าคนทั่วไป จนเกิดอาการได้หลายเลเวล ตั้งแต่คัดจมูก คันคอเล็กน้อย ไปจนถึงไอ หอบเหนื่อยเรื้อรัง” คุณหมอวินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตทางเดินหายใจอธิบาย
คุณหมอเล่าเพิ่มเติมว่า เชื้อรามักเกิดได้ง่ายในที่ที่มีความชื้นมากกว่า 50% ซึ่งค่าความชื้นนี้สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความชื้นที่หาซื้อมาติดเองได้ในบ้าน และค่านี้ควรอยู่ระหว่าง 30-50% หากมากกว่านั้นอาจทำให้รู้สึกเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลได้
ซึ่งการจะรักษาค่าความชื้นให้คงที่ก็ทำได้ไม่ยาก ด้วยการหมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้มีน้ำขังบริเวณแอร์ ช่างบอยยังให้ทริกไปถึงตอนติดตั้งว่า หากจัดการไปถึงท่อแอร์ได้ ก็ควรปรับให้ท่อแอร์ลาดเอียงเล็กน้อย มีจุดพอให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่คั่งค้างอยู่ในท่อ หรือไหลกลับไปก่อกวนตัวเครื่อง (และระวังอย่าให้ท่อแอร์พุ่งตรงไปยังท่อระบายน้ำที่อาจมีน้ำเสียหรือน้ำครำที่มีกลิ่นก่อกวน เพราะบางที กลิ่นไม่พึ่งประสงค์ก็ลอยกลับมายังแอร์และทำให้ห้องเราเหม็นอับแบบเดาสาเหตุไม่ได้!)
นอกจากนี้ ในแอร์บางรุ่น ยังสามารถเลือกปรับโหมดเพื่อลดความชื้นเองได้ ด้วยการเลือกใช้โหมด ‘I Feel Dry’ ซึ่งเป็นโหมดการทำงานที่แอร์จะเป่าลมอ่อน พัดลมทำงานเบาๆ ช่วยลดความชื้นภายในห้อง เหมาะกับช่วงหน้าฝนที่อากาศภายนอกมีความชื้นจัด ทำให้คนเป็นภูมิแพ้ป่วยง่าย
หรือง่ายๆ การรักษาอุณหภูมิของแอร์ทั้งในบ้านและรถยนต์ให้คงที่ราวๆ 25-27 องศาเซลเซียส ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยไม่ให้อากาศในห้องหรือห้องโดยสารชื้นหรือแห้งจนเกินไปนัก เไม่รู้แสบๆ คันๆ จมูก เวลาตื่นนอนมาจึงไม่รู้สึกแสบคอจากอากาศที่แห้งเกิน แถมอุณหภูมิกลางๆ แบบนี้ยังช่วยลดการเจริญเติบโตของไรฝุ่นได้ดีอีกด้วย
สำหรับใครที่ชอบเปิดแอร์อุณหภูมิต่ำๆ ให้เย็นสะใจ ช่างบอยบอกว่าแอร์จะทำงานหนัก กินไฟโดยใช่เหตุเพราะมันยากที่จะไปถึงอุณหภูมิตามตัวเลขบอกได้จริง ทางที่ดีกับเครื่องคือเปิดพัดลมช่วยกระจายความเย็นได้เร็วขึ้น ทั่วห้องมากขึ้น และไม่ต้องทำร้ายคอมเพรสเซอร์มากนัก
เป็นภูมิแพ้ หรือโรครุนแรงเกี่ยวกับปอด หลีกเลี่ยงห้องแอร์จะดีกว่า
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า หากเป็นภูมิแพ้หรือมีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจควรหลีกเลี่ยงการใช้เวลาในห้องแอร์ ข้อเท็จจริงนี้คุณหมออธิบายว่าแล้วแต่กรณี หากไม่ได้เป็นภูมิแพ้รุนแรงแบบที่ยังพอปรับแอร์ให้รู้สึกดีได้ การใช้ชีวิตในห้องแอร์ก็ไม่ใช่ปัญหา
ส่วนคนที่เป็นภูมิแพ้รุนแรง ควบคุมอาการไม่ได้ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยวัณโรคที่มีพังพืดในปอด หลอดลมถูกทำลาย ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์เด็ดขาด คุณหมอย้ำว่าต้องอยู่ในอุณหภูมิธรรมชาติ แล้วเปิดพัดลมช่วยระบายอากาศจะปลอดภัยกับระบบหายใจมากที่สุด
ส่วนใครที่ไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นภูมิแพ้หรือไม่ ให้ทดลองปรับแอร์ห้องนอนในอุณหภูมิที่แตกต่างกันประมาณ 3-4 วัน อุณหภูมิไหนที่ตื่นมาแล้วรู้สึกแน่นจมูก หายใจลำบากไปตลอดวันแม้ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์แล้ว ก็อาจสรุปได้ว่าเรามีโอกาสแพ้อากาศในอุณหภูมินั้นๆ หากไม่ได้รุนแรงอะไร การล้างจมูกทุกคืนก่อนนอน และปรับแอร์ให้อยู่ในอุณหภูมิที่หายใจสบาย ก็สามารถบรรเทาอาการแพ้ได้อยู่นะ
เมื่อเลี่ยงแอร์สกปรกไม่ได้ ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็ไม่สามารถเลี่ยงจากห้องที่มีแอร์สกปรกได้จริงๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรืออาคารสำนักงานที่ใช้แอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบปรับอากาศแบบ Recirculating Function หรือการดูดอากาศเดิมในอาคารกลับมาวนใช้เรื่อยๆ โดยไม่มีการถ่ายเท ความเสี่ยงที่เชื้อราจะวนเข้าวนออกไม่หายไปไหนจึงมากกว่าตอนอยู่บ้านหลายเท่า
ระบบปรับอากาศในอาคารใหญ่ที่ไม่ค่อยดีพวกนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดโรคแพ้ตึก (Building Related Illness) หรืออาการที่เกิดจากความผิดปกติในอาคาร ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว คลื่นไส้ คล้ายจะเป็นหวัด โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติเป็นภูมิแพ้มาก่อนเลยก็ได้
ในกรณีที่หลีกเลี่ยงยังไงก็ยาก ต้องไปทำงานทุกวัน อันดับแรกเราจึงต้องดูแลสุขภาพของเราตัวเองให้ดีเสียก่อน ใครที่เป็นภูมิแพ้หนักๆ ก็ควรทานยาป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ทุกคนก็ควรหาเครื่องกรองอากาศมาเปิดใกล้ๆ ให้เราหายใจได้ปลอดโปร่งขึ้นอีกนิด ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องหายใจหนักๆ เช่น การออกกำลังกาย ในสถานที่ที่รู้สึกว่าแอร์ไม่สะอาดหรือหายใจไม่สะดวกด้วยก็ดีนะ
แอร์รถก็อับชื้นได้ และยิ่งอันตรายถ้าใช้ผิดวิธี
รถยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งที่ที่เรามักจะเปิดแอร์และใช้ชีวิตอยู่ในนั้นยาวนานพอๆ กับออฟฟิศหรือบ้าน แม้ช่างบอยผู้มีประสบการณ์การล้างแอร์รถมาบ้างจะยืนยันกับเราว่าแอร์รถไม่ได้สกปรกเท่าแอร์บ้าน และไม่จำเป็นต้องล้างถี่เหมือนแอร์ตามอาคารก็จริง แต่หลายครั้งเรากลับพบว่าแอร์รถยนต์มักส่งกลิ่นเหม็นอับบ่อยกว่ามาก จนเป็นไปได้ก็คงอยากแกะคอนโซลมาดูให้รู้แล้วรู้รอด
แต่การไปแกะแอร์ล้างกันบ่อยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแอร์รถก็ไม่ได้สกปรกจนรู้สึกได้ มีแต่กลิ่นเหม็นอับนี่แหละที่กวนใจ ทำให้เรามักแก้ปัญหากันแบบเร็วๆ ด้วยการใช้น้ำหอมปรับอากาศดับกลิ่นมันเสียเลย ซึ่งแท้จริง กลิ่นอับนี้มักเกิดจากน้ำที่ขังอยู่ในแอร์ยามเราปิดแอร์แบบผิดๆ การปิดโหมด A/C ในแอร์ เพื่อวอร์มแอร์ด้วยพัดลมให้น้ำแห้งสนิทก่อนดับเครื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก (เทคนิคนี้ใช้กับแอร์บ้านได้เช่นกัน ด้วยการเปิดโหมด Fan ก่อนปิดแอร์สัก 15 นาที)
และน้ำหอมที่เรามักนำไปติดหน้าแอร์รถ ถึงแม้จะช่วยดับกลิ่นได้ก็จริง แต่สารจากน้ำหอมนี้ก็สามารถเข้าไปอุดตันในท่อแอร์ได้ สุดท้ายระบบแอร์ที่ดีอยู่แล้วเลยยิ่งเสีย แถมกลิ่นฉุนรุนแรงพวกนี้ยังเป็นอันตรายต่อปอดด้วย
ยิ่งกว่านั้นน้ำหอมส่วนใหญ่มักจะมาในหีบห่อพลาสติก เวลาเราไปจอดรถกลางแจ้ง พลาสติกจึงละลายปนกับน้ำหอมได้ง่ายๆ พอเราเปิดแอร์ขึ้นมา สุดท้ายเลยได้สูดอากาศพิษแบบคอมโบ้จนเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับปอด และลามไปสู่มะเร็งปอดได้เลยล่ะ ดังนั้นหากรู้สึกว่าวอร์มแอร์ให้แห้งสนิทแล้วยังไงก็ไม่เวิร์ก คงต้องลองหาถุงหอมแบบแขวนหรือเครื่องหอมจากธรรมชาติมาติดรถแทน แต่ไม่แนะนำถุงการบูร เพราะการระเหิดของการบูรจะไปสะสมที่แผงคอยล์เย็น เมื่อรวมเข้ากับสิ่งสกปรก ฝุ่น และความชื้น จะทำให้ระบบแอร์เกิดการอุดตันเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน
และเพื่อความปลอดภัย หากหาเวลาไปปรึกษาช่างแอร์อย่างจริงจังได้ก็ยิ่งดี เพราะบางครั้งปัญหาอาจอยู่ที่แอร์ หรือบางที อาจมีสิ่งผิดปกติในตัวเครื่อง เช่น สัตว์เล็กไปตายอยู่ในห้องเครื่อง หรือมีกลิ่นฉี่สัตว์อย่างหนู ก็ทำให้แอร์มีกลิ่นเวลาเปิดได้ ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการล้างเครื่องยนต์แทน
ช่างแอร์เตือน! ล้างแอร์ผิดที่ ผิดเวลา อาจทำให้ปอดพัง
1
อย่ารอให้น้ำแอร์รั่วแล้วค่อยล้าง! 
ไม่เห็นฝุ่นใช่ว่าจะไม่มี และแอร์ที่ทำงานได้ปกติก็ใช่ว่าจะสะอาดเอี่ยมไปตลอด
ช่างบอยบอกว่า จริงๆ แล้ว การล้างแอร์ควรทำทุกๆ 6 เดือน เพราะจุดที่อมฝุ่นสุดๆ นั้นซ่อนอยู่บริเวณใบพัด ถ้าไม่ได้แกะออกมาดูยังไงก็ไม่มีทางเห็น และพวกมันอาจจะเล็ดลอดออกมากับอากาศยามเราเปิดแอร์โดยไม่รู้ตัว ยิ่งฝุ่นจับหนาเตอะมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่พวกมันจะไปอุดอยู่บริเวณท่อแอร์ก็ยิ่งมีมากขึ้น ส่งผลให้แอร์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เวลาเปิดแอร์เลยไม่เย็นฉ่ำ หรือไม่ก็มีน้ำรั่วออกมาอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ
ยิ่งบ้านไหนเลี้ยงสัตว์ ฉีดน้ำหอม ฝุ่นเยอะ หรือติดแอร์ในห้องครัว สารที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเหล่านี้ ยังสามารถลอยเข้าไปในแอร์ยามที่เปิดเครื่องทำงานได้ด้วย เพราะการทำงานของแอร์ คือการดูดอากาศจากภายนอก เข้าไปวนในเครื่องแล้วปล่อยออกมาเป็นลมเย็นๆ ในระหว่างการดูดอากาศเข้าไป สารต่างๆ ก็อาจเข้าไปติดอยู่ภายในแอร์ จับตัวเป็นก้อนฝุ่น เมือกเหนียว หรือคราบน้ำมันเยิ้ม หนักหน่อยน้ำหอมบางประเภทที่เราฉีดใส่ตัวและฉีดในห้องยังมีฤทธิเป็นกรด สามารถกัดท่อแอร์จนพังได้อีก ดังนั้นบ้านไหนที่รู้ตัวว่าเข้าค่ายนี้ ก็ควรหันมาล้างแอร์ทุกๆ 3-4 เดือนแทนจะดีกว่า
ส่วนคนเป็นภูมิแพ้ ล้างแอร์ทุก 3 เดือนชัวร์สุด!
2
แอร์ชื้น ไม่ยอมล้าง ระวังราก่อโรคบุกปอด!
การล้างแอร์รายหลายปี นอกจากจะช่วยสร้างบ้านให้เชื้อราอันตรายได้มีที่อยู่อาศัย เติบโตไปเป็นอาณาจักรแล้ว เมื่อฝุ่นพวกนี้เจอกับน้ำที่ขังอยู่ในเครื่อง จับตัวรวมกันก็อาจกลายเป็นแบคทีเรีย และเชื้อราตัวร้าย นำพาโรคมาให้สูดดมกันถึงที่!
ด้วยการทำงานของแอร์ที่เป็นระบบปิด ใช้วิธีดูดอากาศภายในห้องเข้าไปวนในเครื่อง แล้วปล่อยออกมาเป็นลมเย็น ดังนั้นฝุ่นผงที่ติดอยู่ในแอร์ ก็สามารถลอยตามลมออกมาได้ง่ายๆ หากใครที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว การสูดดมฝุ่นเยอะๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องดี บางทีอาจนอนหายใจไม่ออก ภูมิแพ้กำเริบจนไอหนักหรือรู้สึกคันๆ ที่จมูกอย่างรุนแรง
แต่หนักกว่านั้นเชื้อโรคที่หลุดลอดออกมาจากแอร์ อาจเป็นแบคทีเรียตัวร้าย ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา (Legionella pneumophila) ที่ก่อโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยอาจจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรืออาการคล้ายปอดอักเสบ หากเชื้อเข้าสู่ปอด จะเกิดภาวะปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่อันตรายมากทีเดียว
3
อย่าล้างแอร์เองด้วยสเปรย์ละลายฝุ่น!
อีกหนึ่งปัญหาปวดหัวที่ช่างบอยพบและอยากขอให้ทุกคนเลิกทำจะดีกว่า ก็คือการซื้อสเปรย์ละลายฝุ่นมาล้างแอร์เอง โดยสเปรย์พวกนี้มักจะโฆษณาว่าทำเองได้ ล้างฝุ่นในแอร์ให้หายเกลี้ยงโดยไม่ต้องเรียกช่าง ประหยัดทั้งเงินและเวลาไปอีก
ถึงจะบอกว่าทำเองได้ แต่ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดหรอก ความจริงแล้ว สเปรย์พวกนี้จะเข้าไปละลายฝุ่นให้กลายเป็นเมือกเหนียว ไหลออกจากช่องแอร์ไปติดอยู่ตามท่อแอร์แทน สุดท้ายพอพวกมันสะสมกันมากๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการไม่ล้างแอร์เป็นปีๆ นี่แหละ
ส่วนใครที่คิดว่าฉันไม่ได้ใช้สเปรย์ แต่ใช้สายฉีดน้ำแรงดันสูงแบบช่างแอร์เป๊ะก็คงหมดห่วง ช่างบอยก็ขอเตือนว่าการทำแบบนี้ก็อันตรายไม่ต่างกัน เพราะการแกะแผงแอร์เอง อาจทำให้เราล้างแอร์ได้ไม่สะอาดอย่างที่ควร เผลอๆ โดนไฟช็อตอันตรายไปถึงชีวิต หรือถึงจะแกะมาล้างเรียบร้อยแต่ไม่เป่าให้แห้ง แอร์ก็อาจจะพังได้อยู่ดี ทางที่ดีที่สุดจึงควรเรียกใช้บริการช่างแอร์ เสียเงินไม่มาก แถมยังไงก็ได้คลีนแอร์จนสะอาดอย่างมั่นใจ
4
แผ่นกรองฝุ่นด้านหน้าอมฝุ่นง่าย แต่ถอดล้างเองได้นะ 
ถึงจะล้างแอร์ยกเครื่องเองไม่ได้ แต่แผ่นกรองฝุ่นซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดอมฝุ่น ก็สามารถถอดมาล้างได้ด้วยตัวเอง และควรทำเป็นประจำทุกๆ 2 สัปดาห์ด้วย
ช่างบอยอธิบายว่าขั้นตอนการล้างแผ่นกรองฝุ่นนั้นทำได้ง่ายและไม่อันตรายเลย เพียงถอดหน้ากากแอร์ออก แล้วหยิบแผ่นกรองฝุ่นด้านหน้าออกมา หากมีสายฉีดน้ำแรงดันสูง ก็ฉีดจนกว่าฝุ่นจะหลุดออก หรือจะล้างด้วยน้ำ แล้วขัดด้วยแปรงเบาๆ จนสะอาดเอี่ยมก็ได้เช่นกัน เมื่อล้างแล้วให้นำมาเช็ดหรือตากให้แห้งในที่ร่ม (ห้ามนำออกไปตากแดดเชียว เพราะอาจทำให้ตัวกรอบงอผิดรูปทรงได้) พอแห้งสนิทก็นำกลับไปติดที่เดิม แค่นี้เราก็สามารถลดการสูดฝุ่นจากแอร์ไปได้มากทีเดียว
5
อย่าปิดแอร์ทันที ทั้งบ้านและรถ
การทำงานของแอร์บ้านเป็นระบบปิด ทำให้น้ำแอร์วนอยู่ในตัวเครื่อง เมื่อปิดแอร์ทันที น้ำบางส่วนจึงขังอยู่ในแอร์ กลายเป็นจุดดักจับฝุ่นอีกจุด เมื่อสะสมมากเข้าจึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดของตะไคร่และเชื้อราจำนวนมาก
ช่างบอยแนะนำว่าก่อนปิดแอร์ 15 นาที ให้เปลี่ยนมาเปิดโหมด Fan หรือโหมดเป่าลมแห้ง เป่าน้ำที่ค้างอยู่ในตัวเครื่องให้แห้งสนิทเสียก่อน เทคนิคนี้ยังสามารถนำไปใช้กับแอร์รถยนต์ได้ด้วย เพียงแค่ปิดโหมด A/C ก่อนดับเครื่องประมาณ 15 นาที เพื่อหยุดการทำงานของน้ำยาแอร์ วิธีการนี้จะช่วยลดการขังของน้ำในตัวเครื่อง นอกจากลดการเกิดตะไคร่และเชื้อราแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของแอร์ให้อยู่ได้นานขึ้นด้วยนะ
6
ไม่ต้องรอน้ำยาหมด ล้างแอร์รถปีละครั้ง 
หลักการการล้างแอร์รถ ก็ไม่ต่างจากการล้างแอร์บ้านมากนัก แค่แอร์รถมีระบบการทำงานที่เล็กกว่า ความถี่ในการล้างเลยไม่จำเป็นต้องบ่อยเท่าแอร์บ้าน ล้างแค่ปีละครั้งก็เพียงพอ
โดยการล้างแอร์รถยนต์ ถ้าจะให้สะอาดเอี่ยมก็ควรล้างแอร์แบบถอดตู้ ถึงแม้จะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการส่องกล้อง แต่การถอดตู้ล้างนั้นเวิร์กกว่าสำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ล้างแอร์ หรือกังวลว่าแอร์รถอาจอมฝุ่นอมโรค เพราะการล้างแบบถอดตู้ ช่างแอร์จะต้องแกะคอนโซลมาฉีดน้ำล้างทุกซอกทุกมุม จึงมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีฝุ่นหลงเหลืออยู่แน่ๆ แถมช่างยังช่วยประเมินสภาพแอร์ในขณะนั้นให้เราได้ด้วยว่าควรเปลี่ยนหรือซ่อมตรงไหนหรือเปล่า
ไม่ต้องรอให้น้ำยาแอร์รั่วแล้วค่อยไปหาช่างแอร์รถยนต์สักที เพราะปอดอาจป่วยนำไปก่อนแล้วนั่นเอง

บทความอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต “หมอบิ๊ก – วินัย โบเวจา” อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ

อ่านต่อ »

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบถือว่าเป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิต

อ่านต่อ »

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

อ่านต่อ »

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save