โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

โทร : 086-364-4698

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ดูแลสุขภาพปอดตอนนี้ยังทัน แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
“หมอบิ๊ก – วินัย โบเวจา” อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ
ทั้ง PM 2.5 ที่เวียนมาซ้ำๆ และ โควิด-19 ที่เรายังต้องเผชิญกันมาตลอดปี เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจดูแลสุขภาพปอดและทางเดินหายใจมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ยังมีพฤติกรรมใกล้ตัวอีกหลายอย่างที่ส่งผลให้ ‘ปอด’ ไม่ปลอดภัยและมีโรคร้ายตามมาแบบไม่รู้ตัว
“เพราะวิถีชีวิตมีส่วนทำให้โรคใหญ่ขึ้น ถ้าเราปรับวิถีชีวิตได้ โรคแทบจะหายไปเลย”
ประโยคที่คุณหมอบิ๊ก-วินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจมักจะบอกคนไข้อยู่เสมอ เพราะคุณหมอเชื่อว่าการดูแลตัวเองและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายนั้นสำคัญมาก เป็นการเตรียมตัวขั้นต้นเพื่อต่อสู้กับโรคที่รายล้อม โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับปอดที่เราป้องกันได้ หากปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและตระหนักเรื่องอากาศที่หายใจให้มากขึ้น
PM 2.5 และโควิด-19 ภัยเฉพาะหน้าที่เราต้องใส่ใจปอดเป็นพิเศษ
“จากเมื่อก่อนที่คนให้ความสำคัญเรื่องไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ แต่มองข้ามเรื่องหลอดลมหรืออากาศที่เราสูดเข้าไป มาในปัจจุบัน คนเริ่มใส่ใจมากขึ้น เริ่มเช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) เริ่มคุยเรื่องวางแผนการเดินทาง หรือเรื่องเครื่องฟอกอากาศกันมากขึ้น”
คุณหมอตั้งข้อสังเกต เพราะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าในช่วงฤดูฝุ่น ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลกว่า 80% มาเพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด เจ็บคอ มีเสมหะ หรือเป็นภูมิแพ้ ส่วนใหญ่มีอาการน้ำมูกไหลลงคอ คันตา คันหู ท้องผูก หนักหัว นอนไม่อิ่ม ส่วนกลุ่มคนที่เป็นหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ที่อาการจะกำเริบจนต้องใช้ยาฉุกเฉินมากขึ้น
“ควันบนถนนโดนหน้าหรือตัวเรา ยังเกิดเขม่าดำที่เรามองเห็น ลองคิดดูว่าสิ่งที่เราสูดเข้าปอดไปจะมีอะไรบ้าง เวลาส่องกล้องดูปอดของคนไข้ เราจะเจอคราบดำ เขม่าดำ ที่เกิดจากการสูดหายใจเอาสารต่างๆ ในอากาศเข้าไปโดยไม่รู้ตัว”
PM 2.5 เหมือนตะกร้าที่บรรจุทั้งตะกอน สารระเหย ของเหลว ควัน มลพิษจากยวดยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมันมีขนาด 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่า จึงวิ่งผ่านอวัยวะและเซลล์ต่างๆ เข้าสู่ปอดได้โดยง่าย หากป้องกันดูแลไม่ถูกวิธี ก็อาจเป็นตัวการสำคัญในการทำลายปอด เพราะ PM 2.5 เป็น ‘ตัวกระตุ้น’ คนที่เป็นโรคปอดอย่างชัดเจน เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ ฯลฯ อีกทั้งยังมีส่วนที่ทำให้ปอดในเด็กเติบโตช้าลง เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น ส่วนในผู้ใหญ่ สภาพปอดก็จะแย่ลงและฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลต่ออายุขัยของคนเราแน่นอน
นอกจากการปกป้องตัวเองจากฝุ่นด้วยหน้ากากกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงใช้ชีวิตกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง ใช้เครื่องฟอกอากาศเมื่ออยู่ในอาคาร การดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากในเวลาที่ต้องอยู่กับฝุ่นอย่างนี้
ส่วนประเด็นโควิด-19 ที่เรารู้กันดีว่าเจ้าไวรัสตัวนี้มันเล่นงานระบบทางเดินหายใจจนมีคนเสียชีวิตทั่วโลกมากมาย และแต่ละประเทศกำลังดำเนินการเรื่องวัคซีนกันอยู่ สิ่งที่คนเริ่มให้ความสนใจจึงเป็น ‘Post Covid Syndrome’ หรือผลการรักษาเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อน และภาวะหายขาดของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอายุ อาการ ภาวะโรคแทรกซ้อนของแต่ละคน เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเชื้อโควิดไปทำสงครามกับภูมิคุ้มกันในปอดของเรา ผลลัพธ์มีทั้งเชื้อโรคและภูมิยกธงยอมสงบทั้งคู่ อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แบบเชื้อโรคแพ้แต่ภูมิไม่หยุดสู้ จนทำให้ปอดยิ่งเสียหาย และแบบสุดท้ายคือเชื้อโรคสยบ ภูมิสงบด้วย แต่ยังทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้ที่ปอด
“จากข้อมูลที่เรามี 80-90% คนที่ป่วยเป็นโรคโควิดส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม ‘Mild Cases’ แทบจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ไม่ต้องแอดมิด และพบว่าคนที่สมรรถภาพปอดเสื่อมนั้นมีน้อย แต่ความผิดปกติของสมรรถภาพปอดที่พบเยอะจะอยู่ในเคส Severe (ซี-เวียร์) คือการติดเชื้อลงปอดถึงขั้นไอซียู จะพบอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย ไม่ได้กลิ่น และพอไปตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าอาจจะมีร่องรอยของอาการผิดปกติได้ถึง 19% เป่าสมรรถภาพปอดพบว่าผิดปกติได้ถึง 9% แต่นี่ยังเป็นข้อมูลที่น้อยมาก เพราะวิจัยในแค่ 277 คน” คุณหมอย้ำ ก่อนจะยืนยันว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องตื่นตระหนกยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หมอที่อยู่ในความเสี่ยงรับเชื้อเยอะๆ คนไข้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไต หัวใจ คนไข้ที่เป็นโรคปอดอยู่แล้ว คนไข้ที่กินยากดภูมิ และคนที่ไม่มีโรคที่อายุ 50-60 ปีขึ้นไป
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แค่ดูแลตัวเองให้ดีตามหลักปฏิบัติพื้นฐาน และดูแลร่างกายให้แข็งแรง ก็เพียงพอแล้วที่จะอยู่กับโรคนี้ไปจนกว่าโลกจะฟื้นตัว
หนีฝุ่นได้ ป้องกันโรคระบาดแล้ว แต่โรคปอดก็ยังจ้องเล่นงาน
เมื่อปอดอ่อนแอ การแทรกซึมของโรคปอดอื่นๆ เปิดประตูเข้ามาง่ายขึ้น อย่างวัณโรคที่มาตอนปอดอยู่ในภาวะภูมิต้านทานต่ำ หรือคนที่สูบบุหรี่จัดจนเนื้อปอดถูกทำลาย ทำให้การขจัดเชื้อวัณโรคที่หายใจเข้าไปนั้นมีประสิทธิภาพลดลง โรคจะรุนแรง ลุกลามเร็ว และรักษายากขึ้น กรณีที่วัณโรคหลบซ่อนตัวอย่างสงบอยู่ที่ปอด ผู้ที่กำลังรักษาร่างกาย เช่น เคมีบำบัดหรือฉายแสง พอเข้ารับกระบวนการรักษา รวมทั้งการกินยาต่างๆ ทำให้วัณโรคที่แฝงตัวอยู่กำเริบขึ้น เพราะร่างกายที่อ่อนแอจากการรักษาทำให้ไม่สามารถสู้เชื้อวัณโรคไหว และในเคสที่มีผู้ใกล้ชิดในบ้านเป็นวัณโรค หากได้สัมผัสผู้ป่วยทีละนิด แต่ต่อเนื่องกันทุกวันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามกันได้
ในประเทศไทย คนป่วยเป็นวัณโรคมากกว่ามะเร็งปอด แต่อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งปอดมีมากกว่าวัณโรค ทั้งสองโรคเหมือนกันค่อนข้างมาก ทั้งอาการที่แสดงออกมาและลักษณะของปอดเมื่อเอกซเรย์ดูแล้ว ถ้าเป็นมะเร็งปอดที่ร่างกายควบคุมโรคได้ จะไม่มีอาการเลยจนกระทั่งกำเริบ โดยอาการส่วนใหญ่จะเกิดที่ปอด ส่งผลให้มีอาการไอ มีเสมหะ เหนื่อยง่าย ส่วนวัณโรคจะเกิดที่เยื่อหุ้มปอดอาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ความร้ายแรงของมะเร็งปอดอาจมากกว่าวัณโรค เพราะกว่าจะมีอาการก็เข้าสู่ระยะที่ 4 แล้ว ซึ่งจะทำให้รักษาได้ยากกว่า ส่วนวัณโรคเป็นโรคที่มีพบอาการเร็ว เมื่อคุณหมอพบและรักษาด้วยยาก็จะมีโอกาสหายได้ไวกว่า
เราสามารถดูแลและรักษาปอดให้ทันด้วยการตรวจร่างกายประจำปีและการเอกซเรย์ปอดเพื่อประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ถ้าตรวจพบ คุณหมอจะให้ยาทาน 6-9 เดือน ถึงแม้จะยังไม่มีวัคซีนในการรักษา แต่การกินยาอย่างสม่ำเสมอและดูแลตัวเองตามที่คุณหมอสั่ง จะสามารถช่วยให้อาการหายขาดได้  แต่สำหรับโรคมะเร็งปอด เบื้องต้นการเอกซเรย์ปอดประจำปีอาจไม่พบหรือไม่สามารถสรุปได้ว่าจุดหรือก้อนที่เจอคือมะเร็ง ต้องใช้วิธีการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ปรับพฤติกรรมสักนิด ลดความใกล้ชิดกับโรคปอด
เพราะบางพฤติกรรมที่เราทำจนเคยชิน อาจส่งผลปอดของเราอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัว มาเช็กให้ชัวร์ว่าปรับพฤติกรรมอย่างไร ถึงห่างไกลจากโรคปอด
ห้องนอนฝุ่นจับ หอบหืดกำเริบ นี่แหละต้นตอโรคปอด
โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ที่ดูเหมือนจะแค่น่ารำคาญใจ แต่หากไม่ได้รักษาอย่างถูกต้องหรือปล่อยไว้นานเกิน อาจทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพ จนเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอักเสบ ซึ่งการใช้ยาบรรเทาอาการเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ
ลองสังเกตพฤติกรรมตัวเองให้ดีหรือปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้และหอบหืด เช่น ควรทำความสะอาดห้องนอนเป็นประจำ เลือกใช้เตียงติดพื้นแบบไม่มีขาเตียง หรือไม่มีตุ๊กตาวางใกล้ๆ ล้างแอร์ทุก 3-6 เดือน เมื่อดูแลตนเองดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน
นอนไม่พอ ภูมิคุ้มกันลด ปอดฟุบอ่อนแอ
คุณหมอบอกว่าการอดนอนหรือนอนไม่พออาจเป็นพฤติกรรมเบสิกที่หลายคนทำเป็นประจำ และการอดนอนสะสมจะทำให้ภูมิคุ้มกันเราเสื่อมลงเร็วมาก กลายเป็นช่องโหว่ให้โรคร้ายเข้ามาเกาะกุมได้ง่าย
“มีคนไข้ที่เป็นเด็ก ป.4 คุณแม่พามาหาหมอด้วยอาการไอเรื้อรัง ซักประวัติไปมาเลยรู้ว่าเล่นเกมจนถึงตี 3 พอไม่ได้นอนแล้วจะเอาภูมิที่ไหนมาต้านทานเชื้อโรค ไวรัสต่างๆ ได้ เด็กจะไม่แสดงอาการง่วง แต่แสดงออกเรื่องการขาดสมาธิ ฉะนั้น การนอนมีผลมาก” คุณหมอย้ำอีกครั้งว่าการนอนสำคัญแค่ไหน
“เพราะการนอนคือการซ่อมแซม ต่อให้ปอดคุณไม่ดี แต่นอนได้ดี นั่นคือการซ่อมแซม นอนเป็นการรักษาที่ดีที่สุดในทุกโรค”
สูบบุหรี่ พ่นควัน แบ่งปันโรคปอด
ปอดเป็นด่านแรกที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ถึงแม้การสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้เกิดโรคปอดทันที แต่ทุกมวนที่สูบทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังตั้งแต่โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ลดภูมิต้านทานของปอด คนสูบบุหรี่จึงติดวัณโรคได้ง่าย ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไหร่ยิ่งลดอายุขัยของปอดให้สั้นลงเรื่อยๆ ส่วนผู้อยู่ใกล้ชิด ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ให้มากที่สุด เพราะ 30% ของคนที่เป็นมะเร็งปอด ไม่ได้เป็นคนที่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนอื่น
ใช้สารเคมีโดยที่ไม่ป้องกัน เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ
สารเคมีอย่างยาฆ่าแมลง สารฟอกสี หรือน้ำยาทำความสะอาด หากสูดดมในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ในบางชนิดอาจทำให้อาการหอบหืดหรือโรคทางเดินหายใจที่เป็นอยู่กำเริบขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ ควรใช้ให้ถูกวิธี ใช้ผ้าปิดจมูกและสวมถุงมือทุกครั้ง
ไม่ว่าอย่างไร อย่าลืมออกกำลังกายและดูแลปอด
“ประโยชน์ของการออกกำลังกายเหนือกว่าหรือเท่ากับการรักษาด้วยยา สำหรับคนไข้ที่เป็นโรคปอดนั้น การออกกำลังกายมีความสำคัญมาก ถ้ากล้ามเนื้อช่วงล่างแข็งแรง ก็จะทำให้ภาระปอดลดลง”
สำหรับคนทั่วไป การออกกำลังกายและการกินอาหารที่ดีมีความสำคัญมากอยู่แล้ว แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคปอด ควรมีการออกกำลังกายที่ดีควบคู่ไปกับการรักษา เช่น กรณีคนไข้โรคปอดที่แขนขาลีบ เวลาขึ้นบันไดจะใช้กำลังปอดเยอะทำให้เหนื่อยง่าย ตรงกันข้ามกับคนที่กล้ามเนื้อขาหรือสะโพกดี ภาระปอดก็จะเบาลง
รวมไปถึงการนอนให้พอ ดื่มน้ำเยอะๆ ขยับเขยื้อนตัวเองบ่อยๆ กินอาหารคลีนให้ได้อย่างน้อย 70% และควรเป็นอาหารปรุงสุก กินอาการเสริมแบบออร์แกนิก เช่น อยากได้วิตามินซี ก็ลองเลือกกินเป็นผลไม้แทน ที่สำคัญหลีกเลี่ยงฝุ่น ทั้งในแง่ของผู้ได้รับ คือสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอเมื่ออยู่ในที่ที่มีฝุ่นมาก หรือในแง่ของผู้ก่อฝุ่นและมลพิษ ก็ควรเช็กสภาพรถยนต์ของตนอย่างสม่ำเสมอด้วย
ตรวจสุขภาพปอดประจำปี ดีทั้งวันนี้และวันหน้า
การตรวจสุขภาพปอดประจำปีผ่านการเอกซเรย์ทำให้เรารู้หน้าตาและลักษณะของปอดในตัวเราเบื้องต้น หากพบความผิดปกติจะได้รีบรับการรักษาทันท่วงที หรือเก็บฟิล์มเอกซเรย์ไว้ใช้เพื่อการวินิจฉัยในภายภาคหน้าได้
“เอกซเรย์ปอดมีความสำคัญมาก เพราะเราไม่ได้ดูแค่มะเร็งปอด แต่เราจะดูจุดหรือก้อน ดูความผิดปกติและวินิจฉัยโรคต่างๆ ของอวัยวะภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ และกระดูก”
คุณหมอยังเสริมอีกว่า ถึงแม้มะเร็งปอดบางชนิดอาจเอกซเรย์แล้วยังไม่พบ แต่ก็อย่าละเลยการตรวจสุขภาพปอดประจำปี หากมาตรวจอีกทีตอนปอดเริ่มแสดงอาการผิดปกติก็อาจสายเกินไป เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าปอดกำลังเสียหายและฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้ยาก
ตรวจร่างกายประจำปี หมอดูอะไรในฟิล์ม x-ray ปอด
การตรวจเอกซเรย์ปอด จะใช้ดูความผิดปกติและวินิจฉัยโรคต่างๆ ของอวัยวะภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ และกระดูก หากพบความผิดปกติ เช่น จุด ก้อน พังผืด ฯลฯ คุณหมอจะช่วยบอกเองว่าเป็นของจริงที่ต้องทำการรักษาหรือเป็นแค่แผลเป็นที่ไม่ต้องใส่ใจ เพราะการเอกซเรย์เป็นเพียงภาพ 2 มิติประกอบการรักษา ต้องดูทั้งอาการและประวัติส่วนตัวของคนไข้ควบคู่ไปด้วย
ความผิดปกติส่วนใหญ่ที่พบในปอด
  • จุด พบได้ทั้งสีดำและสีขาว ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร อาจเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เราสูดหายใจเข้าไปจนสะสมเป็นหินปูนในปอด หรืออาจเป็นแค่เงาจากกระดูกหรือกล้ามเนื้อ
  • ก้อน พบได้ทั้งแบบก้อนเดี่ยวและหลายก้อน ขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร ต้องดูลักษณะขอบเขตของก้อน เช่น ขอบนุ่ม ขอบเรียบ หรือขอบขรุขระ เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยง
  • พังผืด, ฝ้า, ปื้น มีลักษณะคล้ายแผลเป็น พื้นผิวดูขรุขระ มาจากหลายสาเหตุ เช่น แผลเป็นหรือรอยโรคเก่าจากโรคในปอด
หากพบความผิดปกติเหล่านี้ คุณหมอยังไม่สามารถสรุปโรคได้ จะต้องดูอาการและซักประวัติเพิ่มเติม
กรณีมีอาการ 
ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ไอมีเสมหะ เจ็บกลางอก น้ำหนักลด มีประวัติมะเร็ง หรือมีอาการเบื้องต้นที่ใกล้เคียงกับโรคปอดอื่นๆ หมอจะวิเคราะห์ความเสี่ยง ซักประวัติเพิ่ม และวางแผนรักษา
กรณีไม่มีอาการ 
หมอต้องซักประวัติประเมินความเสี่ยง เพื่อคาดคะเนความน่าจะเป็นของโรค และวางแผนการวินิจฉัย ทั้งประวัติความเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัว ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัวเกี่ยวกับโรคมะเร็งหรือวัณโรค ประวัติการสูบบุหรี่ของตนเองและคนใกล้ตัว ประวัติความเสี่ยงในอาชีพ ความเสี่ยงของสถานที่ทำงาน เช่น เหมืองแร่ เจียหิน ประวัติสัมผัสผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือไอเป็นเลือด
คุณหมอจะดูฟิล์มเอกซเรย์เก่า (ถ้ามี) ประกอบด้วย เพราะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งผิดปกตินั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเดิม ถ้าความผิดปกตินั้นมีขนาดเท่าเดิมติดต่อกันเกิน 2 ปี โอกาสที่ไม่ใช่มะเร็งก็มีสูง จากนั้นคุณหมอจะส่งไปวินิจฉัยเพิ่ม เช่น CT Scan, MRI, PET scan, การตรวจโดยการส่องกล้อง หรือการเจาะหาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ
จุดผิดปกติที่ปอดอาจมีอีกหลายสาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็ง หากเจอความผิดปกติในปอดอย่าเพิ่งกังวล คุณหมอจะให้คำตอบว่าใช่หรือไม่ แล้วค่อยเดินหน้ารักษาต่อทางการแพทย์ต่อไป

บทความอื่นๆที่คุณอาจสนใจ

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน

2 วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เหมาะกับคนไข้ไม่เหมือนกัน โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบถือว่าเป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิต

อ่านต่อ »

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น

ชีวิตเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน คนวัยทำงานเลยเป็นโรคหัวใจกันง่ายขึ้น โดย หมออาร์ท-ศุภสิทธิ์ สถิตย์ตระกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

อ่านต่อ »

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ

ล้างแอร์รับหน้าร้อน พร้อมรับมือเรื่องสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ “ช่างบอย – ขวัญชัย ปิ่นแก้ว” ช่างแอร์เจ้าของกิจการมายบอยเซอร์วิส

อ่านต่อ »

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save